หน้าแรก
เกี่ยวกับชมรม
ระเบียบและสวัสดิการ
คณะกรรมการ
ติดต่อชมรม
งานทะเบียน
ทะเบียนสมาชิก
ค้นหาสมาชิก
เว็บบอร์ด
ข่าวและบทความ
ข่าวและกิจกรรมชมรม
นาคาคาบข่าว
มงคลแห่งชีวิต
สุขภาพออนไลน์
เทคโนโลยี
เทคนิคการใช้งานเว็บไซต์
นานาสาระ
ลูกนาคา
โรงเรียนของเรา
เว็บไซต์ลูกนาคา
หน้าแรก
ข่าวและบทความ
มงคลแห่งชีวิต
ตามรอย...เบื้องพระยุคลบาท หนทางที่พ่อทรงสร้างไว้
ตามรอย...เบื้องพระยุคลบาท หนทางที่พ่อทรงสร้างไว้
เรื่องโดย Tom
พุธ,07 ตุลาคม 2009
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทอดพระเนตรพื้นที่โครงการ
ใครเลยจะคิดว่าผืนดินที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเรือกสวนไร่นาที่เขียวขจี ดังคำว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว บนพื้นที่ราบเชิงเขา จ.สระแก้วนั้น หากย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา พื้นดินบริเวณนี้เคยมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากการถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บุกรุกใช้เป็นฐานที่ตั้งในการปฏิบัติการแยกประเทศไทย จนชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวต้องละทิ้งที่ทำกินเพื่อหนีเอาชีวิตรอดไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเป็นภาพที่สะเทือนใจทั่วกัน
ครั้นเมื่อความทราบไปยังพระเนตรพระกรรณของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
จึงทรงมีพระราชดำริให้มี
"การพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา"
ที่ถูกทิ้งร้างให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมๆ กับฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ดีกินดี
โดยโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2521 จวบจนถึงปัจจุบัน
เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ด้วยพระราชประสงค์ที่อยากจะเห็นพสกนิกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
กองทัพบก โดยกรมกิจการพลเรือนทหารบก จึงจัดกิจกรรม “กองทัพบกพาสื่อมวลชนสัญจร” ตามรอย...เบื้องพระยุคบาท ณ โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา จ.สระแก้ว
โดยมีเจ้าบ้านอย่างหน่วยทหารพัฒนา กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ กองทัพภาคที่ 1 รับหน้าที่เป็นผู้นำคณะสื่อมวลชนสัญจรตามรอยเสด็จของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
กิจกรรมแรกเริ่มที่ การบรรยายสรุปความเป็นมาของโครงการนี้ โดยมี
พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ เสนาธิการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายว่า พื้นที่แห่งนี้เดิมอยู่ในเขต อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี อ.สระแก้ว อ.วัฒนานคร และ อ.ตาพระยา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ 3 จังหวัดคือ จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่เคยประสบปัญหาความมั่นคงของประเทศ มีประชาชนเข้ามาบุกรุกพื้นที่ ทำให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ที่สำคัญยังมีผู้ก่อการร้ายเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งฐานปฏิบัติการที่จะแยกประเทศไทย ทำให้การเข้าไปช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบเชิงเขา จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาขึ้น พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี ประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อวางโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาตามพระราชดำริขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2521”
เมื่อจัดตั้งโครงการแล้วเสร็จในวันที่ 12 พ.ค. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการ พร้อมทั้งพระราชทานอุปกรณ์และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในโครงการอีกด้วย
“โครงการเริ่มจากการจัดสร้างแหล่งน้ำบริเวณตำบลห้วยชัน, ท่ากระบาก คลองทราย ฯลฯ เพื่อให้คนมีแหล่งน้ำทำกิน ตามด้วยการสร้างโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นมาเพื่อให้คนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น และสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ด้วยการทอผ้าไหมไทย โดยนำผ้าไหมจากมูลนิธิศิลปาชีพมาเป็นวัตถุดิบ จากนั้นก็มีการพัฒนาพื้นที่ตามมาเรื่อยๆ”
เส้นทางที่ใช้ในการเสด็จฯขณะนั้น
แต่สิ่งที่นำมาซึ่งความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือพระองค์ทรงเสด็จมาติดตามความคืบหน้าของโครงการอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าเส้นทางการเสด็จนั้นจะมีความยากลำบากถนนหนทางเต็มไปด้วยดินลูกรัง พื้นที่มีความลาดชันเพียงใดก็ตาม
“ถึงแม้ว่าตอนนั้นผมจะยังไม่ได้มาทำหน้าที่นี้ แต่เท่าที่ได้ฟังรุ่นพี่ที่เขาเคยตามเสด็จพระองค์ท่านมาเยี่ยมพื้นที่ตอนนั้น เส้นทางเสด็จค่อนข้างลำบากมาก เพราะเป็นถนนลูกรังเส้นทางแคบๆ ด้วยเป็นที่ราบเชิงเขา แต่พระองค์ก็ทรงเสด็จด้วยพระบาทขึ้นไปในพื้นที่อย่างมิได้ทรงย่อท้อแต่อย่างใด ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นองค์ต้นแบบของทหารทุกคนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อรักษาพื้นที่ของไทยไว้ไม่ให้ใครมาแบ่งแยก เพราะพระองค์ท่านจะทรงมีรับสั่งเสมอว่า “เราต้องรักและห่วงแหนแผ่นดินของตัวเอง”
พ.อ.ปิยพงศ์กล่าว
บนพื้นที่แห่งน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างใหญ่ไพศาล เต็มไปด้วยความเขียวขจีของป่าไม้พืชพรรณธรรมชาตินานาชนิด ที่มีคุณประโยชน์อย่างมากมาย รอให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการปศุสัตว์ที่สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ รวมไปถึงสถานีประมงน้ำจืดที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของเมืองไทยที่กำลังจะสูญพันธุ์ เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำ และให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
โครงการเศรษฐกิจพอเพียงของทหารพัฒนา
ผลผลิตของโครงการเริ่มผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมชาวบ้านในพื้นที่ไม่เพียงแต่จะคลายความทุกข์เศร้าและความแร้นแค้น แต่ยังนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดสร้างสัมมาชีพของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ตัวเองร่ำรายมหาศาลเหมือนเศรษฐกิจทุนนิยมที่ไม่มีความแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้รับกลับมาคือความเพียงพอในชีวิต ไม่ต้องดิ้นรนจากบ้านเกิดเมืองนอนไปสร้างฝันในเมืองใหญ่อีกต่อไป
สำลี บุญเนียม
หนุ่มใหญ่วัยกลางคนเจ้าของฟาร์มสำลี หนึ่งในสมาชิกเลี้ยงโคนมในโครงการบอกว่า ที่ผ่านมาเขาเคยเข้าไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ แต่เพราะทนความเร่งรีบและความบีบคั้นของชีวิตในเมืองใหญ่ไม่ได้ จึงกลับมาที่บ้านและสมัครเข้าเป็นสมาชิกของโครงการ โดยเริ่มจากเลี้ยงโคนม
2-3 ตัว มีรายได้วันละ 300 บาท จนถึงวันนี้เขามีโคนมมากกว่า 10 ตัว สร้างรายได้ให้เขาเดือนละไม่ต่ำกว่า 7,000 บาท ทำให้เขาและครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ลุงแดง
ส่วน
ลุงแดง วัย 78 ปี
ผู้เคยมีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิดบอกเล่าความตื้นตันใจที่ตัวเองได้เกิดมาใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า ครั้งแรกที่มีโอกาสได้เห็นพระพักตร์ของทั้ง 2 พระองค์ รู้สึกดีใจยากที่จะหาใดเปรียบได้
เพราะตอนนั้นพื้นที่ที่ทั้ง 2 พระองค์เสด็จมามีความยากลำบากมากที่สุด ผู้ก่อการร้ายเพิ่งออกไปจากพื้นที่ แต่ทั้ง 2 พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากนั้นเลย แต่กลับทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทอย่างไม่หวั่นเกรงแม้แต่น้อย เพียงเพราะท่านต้องการทอดพระเนตรความคืบหน้าของโครงการ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามพระราชประสงค์อย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งน้ำพระราชหฤทัย ที่ส่งผลให้หลายชีวิตบนผืนแผ่นดินไทยค้นพบกับความสุขอันยั่งยืนอย่างแท้จริง
โครงการฟาร์มปศุสัตว์
Copyright © 2003 ชมรมศิษย์เก่าบวรนิเวศ รุ่น 84 ปี
All right reserved.